ลักษณะและพันธุ์ข้าวเหนียว
ข้าวเป็นอาหารหลักของไทย ในประเทศไทยนิยมบริโภคข้าว 2 ชนิดได้แก่ข้าวและข้าวเหนียว โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน จะทานข้าวเหนียวเป็นหลักนอกจากนั้นข้าวเหนียวยังสามารถนำมาทำขนมได้มากมายหลากหลายชนิด และในยุคแรกๆข้าวเหนียวยังเป็นข้าวชนิดแรกที่มนุษย์ใช้บริโภคอีกด้วย
ข้าวเหนียว ข้าวสายพันธุ์แรกที่มนุษย์บริโภค
มีการสันนิษฐานจากนักวิชาการว่า ข้าวยุคแรกที่มนุษย์ใช้บริโภคก็คือพันธุ์ข้าวเหนียว จากหลักฐานที่เชื่อถือได้เป็นข้าวหรือข้าวเปลือกอายุกว่า 5500 ปีที่ถ้ำปงคง จ. แม่ฮ่องสอน และที่บ้านเชียงได้ค้นพบเมล็ดข้าวอยุ 3000-4000 ปี มีลักษณะเป็นข้าวเมล็ดปล้อง สันนิษฐานว่าอยู่ในตระกูลข้าวเหนียว
ลักษณะและพันธุ์ข้าวเหนียว
พันธุ์ข้าวเหนียวมี 2 สี ได้แก่สีขาวและสีดำซึ่งในภาษาเหนือเรียกว่าข้าวก่ำ ประโยชน์ของข้าวเหนียวไม่เพียงเป็นอาหารหลักของคนไทยในแถบภาคเหนือและอีสานเท่านั้น แต่ข้าวเหนียวยังนำไปผลิตเป็นแป้งข้าวเหนียวสำหรับใช้ทำขนม หรือใช้เป็นวัตถุดิบในการทำขนมขบเคี้ยวในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ อีกด้วย ส่วนสายพันธุ์ข้าวเหนียวที่นิยมปลูกมีหลายสายพันธุ์แต่ละพันธุ์ยังมีลักษณะเด่นที่แตกต่างกัน ดังนี้
1.ข้าวเหนียวเขี้ยวงู เป็นข้าวที่มีลำต้นแข็งแรง สูงประมาณ 150 เซนติเมตร รวงเล็ก เมล็ดเล็กเรียวยาวคล้ายเขี้ยวงู ลักษณะเด่นและเป็นที่นิยมของแม่ค้าขนมหวานก็คือ นำมาหุงนึ่งหรือมูน เมล็ดสวยงามน่ารับประทาน
2.ข้าวเหนียวพันธุ์กข 4 ลักษณะเด่นคือปลูกได้ทุกฤดูกาล ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์พี่น้องของ กข1กับพันธุ์ดับเบิ้ลยู1252 จากอินเดีย ต้านทานโรคใบจุดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเพลี้ยจักจั่นสีเขียวได้ดี แต่ไม่ต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง
3.ข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ข้าวเหนียวที่ดีที่สุดในประเทศไทย ทนแล้ง และต้านทานโรคใบจุดสีน้ำตาล แต่มีปัญหาเรื่องโรคไหม้ที่ทำให้ต้นกล้าตายและในพื้นที่น้ำน้อยไม่สามารถเพาะปลูกซ้ำได้
4.ข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง 1 สามารถปลูกได้ตลอดปี เมื่อนึ่งสุกแล้วมีลักษณะเหนี่ยวนุ่ม เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวที่ให้ผลผลิตสูง สามารถต้านทานโรคไหม้ และโรคขอบใบแห้งได้ดี
5. ข้าวเหนียวพันธุ์สกลนคร ลำต้นสูงประมาณ 123-146 เซนติเมตร ปรับตัวได้หลายสภาพ ปลูกได้ทั้งในสภาพนาดอน นาชลประทาน และสภาพไร่นาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเด่นเมื่อนึ่งสุกแล้วเหนียวนุ่ม มีกลิ่นหอมน่าทาน
สำหรับพันธุกรรมข้าวเหนียวที่มีอยู่ทั่วโลก มีมากถึง 6,480 พันธุกรรมและในจำนวนนี้อยู่ในภูมิภาคเอเชียถึงร้อยละ 99.23 ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุดได้แก่ ไทย สปป.ลาว และ เวียดนาม โดยมีประเทศไทยเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวเหนียวแหล่งใหญ่ของโลก